การป้องกันตนเองและผู้อื่น
สิทธิและความรับผิดชอบแห่งศตวรรษที่ 21
essay writingterm papersonline paper writerbuy essayพลเมืองที่ดีคือพลเมืองที่เข้าใจในสิทธิและความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อการสร้างสังคมประชาธิปไตยที่ดี พลเมืองดิจิทัลเองก็ต้องตระหนักถึงสิทธิและความรับผิดชอบของตนเช่นเดียวกัน เพียงแต่สิทธิและความรับผิดชอบในยุคดิจิทัลได้ถูกตีความและต่อยอดให้สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
สิทธินั้นหมายถึงเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่รัฐบาลมีพันธะหน้าที่ต้องปกป้องและส่งเสริม สิทธิบางอย่างถูกบัญญัติไว้ในกฎหมายระดับประเทศ ขณะที่สิทธิบางประการถูกรับรองไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งตั้งอยู่บนหลักการเรื่องอิสรภาพ ความเท่าเทียม และความเสมอภาค เช่น เสรีภาพในการแสดงความเห็น เสรีภาพในการรวมกลุ่มและการสมาคม เสรีภาพสื่อ เสรีภาพในการนับถือศาสนา เสรีภาพในความเป็นส่วนตัว อย่างไรก็ดี สิทธิมีข้อจำกัดและต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบในการคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมและหลักจริยธรรม เช่น การเคารพสิทธิ ความเชื่อ และความเห็นของผู้อื่น
สิทธิของพลเมืองดิจิทัล
สิทธิของพลเมืองในยุคดิจิทัลนั้นได้รับการพัฒนาต่อยอดจากหลักการสากลด้านสิทธิมนุษยชน โดยมีองค์กรจำนวนมากที่ผลักดันสิทธิดังกล่าว เช่น องค์การสหประชาชาติ (UN) กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) สภายุโรป (Council of Europe) แนวทางด้านสิทธิในคู่มือฉบับนี้อ้างอิงจากกฎบัตรว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและหลักการพื้นฐานสำหรับอินเทอร์เน็ต (Charter of Human Rights and Principles for the Internet) และข้อเสนอว่าด้วยสิทธิมนุษยชนสำหรับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตของสภายุโรป1
สิทธิในการเข้าถึงและไม่ถูกเลือกปฏิบัติ
สิทธิในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานสำหรับมนุษย์ทุกคน บางประเทศ เช่น ฟินแลนด์และเอสโตเนีย กำหนดให้การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตไม่เพียงช่วยเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมให้กับผู้ใช้ แต่ยังเสริมสร้างสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานหลายอย่าง อาทิ เสรีภาพในการแสดงออก สิทธิในการเข้าถึงการศึกษา สิทธิในการสมาคมและชุมนุมโดยสันติ สิทธิในการมีส่วนร่วมกับรัฐบาล
การเข้าไม่ถึงหรือถูกตัดการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตนั้นส่งผลกระทบถึงโอกาสและสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์เป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้ สิทธิในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตโดยไม่ถูกตัดการเชื่อมต่อหรือถูกเลือกปฏิบัติจากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) หรือผู้ให้บริการเนื้อหาออนไลน์ ไม่ว่าจะอยู่บนฐานของอะไรก็ตาม เช่น เพศ ชาติพันธุ์ ภาษา ศาสนา ความเชื่อทางการเมือง จึงถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในยุคดิจิทัล ยกเว้นแต่กรณีที่มีการกำหนดไว้ในกฎหมายชัดเจน กระทบกับสิทธิของผู้อื่น หรือส่งผลต่อความมั่นคงของชาติ ความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือกรณีที่มีการผิดสัญญาไม่จ่ายเงินค่าบริการอินเทอร์เน็ต (แต่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหรือไอเอสพีควรใช้มาตรการตัดสัญญาณเป็นมาตรการสุดท้ายเท่านั้น) หรือกรณีที่พ่อแม่ผู้ปกครองควบคุมการใช้อินเทอร์เน็ตของเด็กและผู้เยาว์ให้เหมาะสม
หากมีการตัดการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ไอเอสพีควรแจ้งผู้ใช้ให้ทราบถึงเหตุผลและข้อกฎหมายที่ใช้เป็นฐานในการตัดอินเทอร์เน็ต รวมถึงแจ้งให้ผู้ใช้ทราบถึงกระบวนการร้องเรียนและคำขอให้มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต
สิทธิในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตครอบคลุมถึงประเด็นต่างๆ ดังนี้
- ดิจิทัลเพื่อคนทั้งมวล
ดิจิทัลเพื่อคนทั้งมวลคือแนวคิดที่เรียกร้องให้คนทุกคนมีสิทธิเข้าถึง รวมถึงใช้ประโยชน์จากสื่อดิจิทัลและช่องทางการสื่อสารที่หลากหลายในฐานะเครื่องมือสำคัญในชีวิตประจำวัน เช่น การสื่อสาร การเข้าถึงความรู้ การทำธุรกรรม
รัฐบาลควรดำเนินมาตรการส่งเสริมให้เกิดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอย่างทั่วถึง ราคาไม่แพง ปลอดภัย มีคุณภาพเชื่อถือได้ และรองรับกลุ่มคนที่หลากหลาย โดยเฉพาะกลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล มีรายได้น้อย เป็นคนกลุ่มน้อยของสังคม หรือต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เช่น ผู้พิการ
นอกจากนั้น รัฐบาลควรจัดให้มีจุดบริการอินเทอร์เน็ตอย่างทั่วถึง เช่น ศูนย์กลางชุมชน ห้องสมุด โรงเรียน คลินิก รวมทั้งคำนึงถึงการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ต ซึ่งทวีความสำคัญมากขึ้นในยุคที่คนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่มากขึ้นเรื่อยๆ
- คุณภาพบริการ
คุณภาพบริการขั้นต่ำซึ่งประชาชนควรเข้าถึงได้นั้นต้องสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เรียกร้องการใช้ข้อมูลมากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งการเข้าถึงจะต้องมีราคาถูกและมีความเท่าเทียมมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของนักเรียนในกรุงเทพฯ ที่มีคอมพิวเตอร์ส่วนตัวใช้ในโรงเรียน กับนักเรียนต่างจังหวัดที่ใช้เน็ตได้เฉพาะที่ห้องสมุดโรงเรียน แม้ทั้งคู่จะเข้าถึงเน็ตได้เหมือนกัน แต่โอกาสจากการเรียนรู้นั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
- เสรีภาพในการเลือกใช้ซอฟต์แวร์ แอปพลิเคชั่น และระบบปฏิบัติการ
การเข้าถึงยังครอบคลุมถึงเสรีภาพในการเลือกใช้ซอฟต์แวร์ แอปพลิเคชั่น และระบบปฏิบัติการตามที่เราต้องการ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อโครงสร้างการสื่อสารและโปรโตคอลทำงานข้ามระบบได้ รวมถึงรักษามาตรฐานแบบเปิด (open standard) เอาไว้ นอกจากนั้นอินเทอร์เน็ตจะต้องเปิดให้ทุกคนมีสิทธิในการสร้างสรรค์เนื้อหา แอปพลิเคชั่น และบริการต่างๆ โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบหรือผ่านการรับรองจากผู้มีอำนาจ
- ความเป็นกลางของเครือข่าย
สถาปัตยกรรมของอินเทอร์เน็ตต้องได้รับการปกป้องให้มีความเป็นกลาง หรือที่เรียกว่าความเป็นกลางของเครือข่าย (net neutrality) กล่าวคือต้องมีลักษณะเปิด เท่าเทียม และไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อเป็นแพลตฟอร์มในการนำเสนอเนื้อหาและบริการออนไลน์อย่างเป็นกลาง ไม่มีใครได้สิทธิพิเศษ
เสรีภาพในการแสดงความเห็นและการเข้าถึงข้อมูล
มาตราที่ 19 ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนบัญญัติไว้ว่า “มนุษย์ทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออก สิทธิดังกล่าวรวมถึงเสรีภาพในการแสดงความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง และสิทธิในการแสวงหา รับ ส่งต่อข้อมูลและแนวคิดผ่านสื่อใดๆ และโดยไม่ต้องคำนึงถึงพรมแดน” เสรีภาพดังกล่าวครอบคลุมถึงการแสดงความเห็นในโลกอินเทอร์เน็ตด้วยเช่นกัน
เสรีภาพในการแสดงออกเป็นสิทธิที่มีความสำคัญต่อสังคมประชาธิปไตยและการพัฒนาของมนุษย์ หลักการสากลยืนยันถึงสิทธิในการแสดงตัวตน มุมมอง ความคิด ความเห็น รวมทั้งสิทธิในการเข้าถึงและเผยแพร่ข้อมูล/ความเห็นของผู้อื่นบนโลกออนไลน์ได้อย่างเสรี เสรีภาพดังกล่าวครอบคลุมถึงการพูดทางการเมือง มุมมองทางศาสนา ความเห็นและการแสดงออกที่ไม่สร้างความขุ่นเคือง และอาจรวมถึงการแสดงออกที่อาจสร้างความขุ่นเคืองและสร้างความรำคาญใจให้กับผู้อื่นด้วย ซึ่งต้องพิจารณาควบคู่กับเงื่อนไขอื่นๆ เช่น กฎหมายและวัฒนธรรมในแต่ละประเทศ
แน่นอนว่าเสรีภาพในการแสดงความเห็นไม่ใช่สิทธิที่ไร้ข้อจำกัด และต้องคำนึงถึงสิทธิอื่นๆ เช่น สิทธิในการปกป้องชื่อเสียงและความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น รวมถึงผลประโยชน์สาธารณะด้วย เช่น เพื่อปกป้องความมั่นคงของชาติหรือความสงบเรียบร้อย อย่างไรก็ดี การแทรกแซงเสรีภาพในการแสดงออกต้องได้รับการบัญญัติไว้ในกฎหมายด้วย โดยกฎหมายนั้นต้องกำหนดขอบเขตข้อห้ามให้ชัดเจนและวางกรอบให้แคบเท่าที่จำเป็น เพื่อให้ประชาชนเข้าใจและกำกับพฤติกรรมการแสดงความเห็นได้อย่างถูกต้อง รวมถึงต้องไม่ทำโดยเลือกปฏิบัติ มีเหตุผลอันชอบธรรมตามหลักสากล ขอบเขตการแทรกแซงต้องเหมาะสม อีกทั้งยังต้องมีกลไกในการแจ้งให้ผู้ที่ถูกแทรกแซงสิทธิเสรีภาพทราบถึงสิทธิในการร้องเรียนให้มีการแก้ไข
สิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นและเข้าถึงข้อมูลครอบคลุมประเด็นต่างๆ ดังนี้
- เสรีภาพจากการเซ็นเซอร์
ประชาชนทุกคนมีสิทธิในการใช้อินเทอร์เน็ตโดยปราศจากการเซ็นเซอร์ทุกรูปแบบ การคุกคามข่มขู่การแสดงออกผ่านอินเทอร์เน็ตนั้นถือเป็นการละเมิดเสรีภาพ
การเซ็นเซอร์ผ่านการบล็อกและฟิลเตอร์ โดยเฉพาะการบล็อกเนื้อหาล่วงหน้าเพื่อไม่ให้ประชาชนทั้งหมดเข้าถึงได้นั้น ถือเป็นการเซ็นเซอร์ที่ขาดความชอบธรรม เว้นแต่เนื้อหาเฉพาะนั้นๆ ถูกตัดสินว่าผิดกฎหมายและผ่านกระบวนการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายแล้ว นอกจากนั้น มาตรการใดๆ ที่ใช้ในการบล็อกเนื้อหาเฉพาะนั้นๆ จะต้องทำภายใต้ขอบเขตที่จำกัดที่สุด และไม่ส่งผลให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลอื่นๆ ได้ เช่น หากพบว่ามีเนื้อหาที่ผิดกฎหมายในเว็บบอร์ด มาตรการการบล็อกก็ควรจำกัดที่กระทู้ที่ผิดกฎหมายเท่านั้น ไม่ใช่ปิดกั้นการเข้าถึงทั้งเว็บบอร์ด
ตัวกลาง เช่น ไอเอสพี ไม่ควรถูกกดดันหรือบังคับโดยกฎหมายให้นำเนื้อหาออก บล็อกเนื้อหา หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้ หากเนื้อหาดังกล่าวไม่ผิดกฎหมาย นอกจากนั้นรัฐยังมีหน้าที่คุ้มครองและเคารพเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิในการสื่อสารของประชาชน ซึ่งรวมถึงการสื่อสารระหว่างบุคคล เช่น การออกกฎหมายเพื่อป้องกันการดักฟังและคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
ไอเอสพี รวมถึงผู้ให้บริการเนื้อหาและผู้ให้บริการออนไลน์ ต้องเคารพสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก กระนั้นก็ตาม ผู้ให้บริการเนื้อหาและบริการออนไลน์บางรายอาจมีนโยบายห้ามเนื้อหาและพฤติกรรมบางอย่าง เช่น ประทุษวาจา ภาพอนาจาร แต่ต้องทำภายใต้หลักเกณฑ์ที่ไม่ละเมิดหลักสากล รวมถึงมีกระบวนการที่โปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูล และเปิดช่องทางให้มีการตรวจสอบการบล็อกหรือฟิลเตอร์เนื้อหา เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้ใช้ตัดสินใจว่าจะเลือกใช้บริการออนไลน์นั้นๆ หรือไม่
- สิทธิในข้อมูล
ประชาชนทุกคนมีสิทธิในการค้นหา เข้าถึง และส่งต่อข้อมูลและความคิดผ่านอินเทอร์เน็ต
เรามีสิทธิเข้าถึงและใช้ข้อมูลของรัฐบาล โดยรัฐบาลควรดำเนินการเปิดเผยข้อมูลในเวลาอันเหมาะสมและในรูปแบบที่สามารถเข้าถึงและนำไปใช้ต่อได้ง่าย นอกจากนั้นเรายังสามารถแชร์งานและสร้างสรรค์งานจากการปรับเปลี่ยนงานต้นฉบับของผู้อื่น แต่สิทธิดังกล่าวต้องพิจารณาควบคู่กับสิทธิของผู้ผลิตงานต้นฉบับที่จะได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ โดยระบบลิขสิทธิ์ต้องไม่บั่นทอนศักยภาพของอินเทอร์เน็ตในการสร้างสรรค์และต่อยอดเนื้อหา ซึ่งหลักการสำคัญในการพิจารณาคือ หลักการใช้อย่างเป็นธรรม (fair use)
โครงการคอมมอนเซนส์เอดูเคชั่น สรุปหลักการและตัวอย่างการนำผลงานไปใช้ที่เข้าข่าย “การใช้อย่างเป็นธรรม” ตามภาพด้านล่าง
ภาพที่ 1: หลักการและตัวอย่างการใช้อย่างเป็นธรรม2
นอกจากเราจะมีสิทธิในการใช้ผลงานสร้างสรรค์ของผู้อื่นตามหลักการใช้อย่างเป็นธรรมแล้ว หากผลงานสร้างสรรค์อยู่ภายใต้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ (Creative Commons) เราก็สามารถนำผลงานนั้นไปใช้โดยไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของผลงาน แต่ต้องใช้ภายใต้ขอบเขตการอนุญาตที่เจ้าของกำหนด เช่น ห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า ห้ามดัดแปลง ครีเอทีฟคอมมอนส์จะช่วยส่งเสริมการเผยแพร่ การใช้ และการต่อยอดผลงานสร้างสรรค์ของผู้อื่น รวมถึงผลงานสร้างสรรค์ของเราเอง (หากเราเลือกใช้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์กับงานของเรา) ซึ่งช่วยสร้างเนื้อดินที่เหมาะกับการเติบโตของวัฒนธรรมเสรีในโลกอินเทอร์เน็ต
สิทธิในการชุมนุมและการสมาคมออนไลน์
มาตรา 20 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนบัญญัติว่า “มนุษย์ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งการชุมนุมและการสมาคมโดยสันติ บุคคลใดไม่อาจถูกบังคับให้สังกัดสมาคมได้” หลักการดังกล่าวประยุกต์ใช้กับโลกอินเทอร์เน็ตด้วยเช่นกัน ดังนั้นเราทุกคนจึงมีสิทธิในการชุมนุมและสมาคมผ่านอินเทอร์เน็ต
เราทุกคนมีเสรีภาพที่จะเลือกใช้เว็บไซต์ แอปพลิเคชั่น หรือบริการออนไลน์ใดๆ เพื่อการจัดตั้ง ขับเคลื่อน และมีส่วนร่วมในการชุมนุมหรือการสมาคม เช่น การใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อจัดตั้งสหภาพแรงงาน โดยการมีส่วนร่วมดังกล่าวผ่านอินเทอร์เน็ตจะต้องไม่ถูกบล็อกหรือฟิลเตอร์
เรามีสิทธิในการใช้เครื่องมือดิจิทัลเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและตรวจสอบกระบวนการกำหนดนโยบายและกฎหมายทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับโลก เช่น การจัดทำเว็บไซต์เพื่อให้ผู้สนใจติดตามประเด็นการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ต พูดคุยแลกเปลี่ยน หรือใช้เว็บไซต์ Change.org ล่ารายชื่อเพื่อยื่นคำร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย
ประชาชนทุกคนมีสิทธิใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อขับเคลื่อนและมีส่วนร่วมในการประท้วงทั้งในโลกออนไลน์และโลกจริง อย่างไรก็ดี สิ่งที่คุณควรตระหนักคือ หากการประท้วงนำไปสู่ความรุนแรง การทำลายทรัพย์สิน หรือทำความเสียหายให้กับระบบอินเทอร์เน็ต คุณอาจต้องเผชิญกับปัญหาทางกฎหมาย
อินเทอร์เน็ตได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับประชาชนในการมีส่วนร่วมในสังคมประชาธิปไตย ดังนั้นรัฐจึงควรส่งเสริมให้มีการใช้เครื่องมือดิจิทัลในกระบวนการประชาธิปไตยมากขึ้น เช่น ส่งเสริมการมีส่วนร่วมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Participation) หรือการสร้างรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government) ซึ่งให้บริการงานภาครัฐผ่านเครือข่ายออนไลน์มากขึ้น
สิทธิในความเป็นส่วนตัวและในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
มาตรา 12 ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนบัญญัติว่า “บุคคลใดจะถูกแทรกแซงในความเป็นส่วนตัว ครอบครัว ที่อยู่อาศัย หรือการสื่อสาร หรือจะถูกลบหลู่เกียรติยศและชื่อเสียงตามอำเภอใจหรือโดยผิดกฎหมายไม่ได้ ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองต่อการแทรกแซงสิทธิหรือการลบหลู่ดังกล่าวนั้น”
ในโลกดิจิทัลที่มีการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลไว้มากมาย พลเมืองมีสิทธิเรียกร้องชีวิตส่วนตัวในอินเทอร์เน็ต รวมถึงความเป็นส่วนตัวในการสื่อสารถึงกัน นอกจากนั้น พลเมืองมีสิทธิรับรู้ว่าข้อมูลส่วนตัวอะไรบ้างที่ถูกบันทึกไว้ จะถูกใช้อย่างไร และเราจะจัดการอะไรกับมันได้บ้าง
สิทธิในความเป็นส่วนตัวครอบคลุมสิทธิต่างๆ ดังนี้
- การออกกฎหมายความเป็นส่วนตัว
รัฐมีพันธะหน้าที่ในการจัดทำและบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองความเป็นส่วนตัวและข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน โดยกฎหมายดังกล่าวจะต้องสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากลและมาตรการการคุ้มครองผู้บริโภค และต้องระบุถึงการป้องกันการละเมิดความเป็นส่วนตัวโดยรัฐและบริษัทเอกชนด้วย
เจ้าหน้าที่รัฐและบริษัทเอกชนมีพันธะที่จะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบและกระบวนการในการจัดการกับข้อมูลส่วนบุคคล การเก็บ ใช้ เปิดเผย และรักษาข้อมูลส่วนบุคคล จะต้องทำโดยโปร่งใสและได้มาตรฐาน และการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลก่อน พลเมืองทุกคนมีสิทธิรับรู้ว่ามีข้อมูลส่วนตัวอะไรบ้างที่ถูกนำไปใช้หรือส่งต่อให้กับบุคคลที่สามด้วยวัตถุประสงค์อะไร รวมถึงมีสิทธิควบคุมข้อมูลส่วนตัวของเราเอง ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึง ตรวจสอบความถูกต้อง การกู้คืน การขอให้ลบข้อมูลส่วนบุคคล และมีสิทธิได้รับแจ้งเมื่อข้อมูลของตนถูกส่งต่อให้บุคคลที่สาม ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด หาย หรือถูกขโมย
เมื่อผู้ให้บริการออนไลน์หรือหน่วยงานรัฐมีความจำเป็นต้องขอข้อมูลส่วนบุคคล ควรเก็บข้อมูลเท่าที่จำเป็นจริงๆ และต้องเก็บภายในระยะเวลาที่จำเป็นต่อการใช้งานเท่านั้น โดยเมื่อใช้ข้อมูลเสร็จเรียบร้อยแล้วจะต้องลบข้อมูลนั้นทิ้ง
การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลควรอยู่ภายใต้การกำกับดูแลขององค์กรอิสระที่สามารถทำงานอย่างโปร่งใสโดยปราศจากอิทธิพลทางการเมืองหรือผลประโยชน์เชิงพาณิชย์
- นโยบายและการตั้งค่าความเป็นส่วนตัว
ผู้ให้บริการออนไลน์ต้องประกาศนโยบายความเป็นส่วนตัวที่ชัดเจนและให้ผู้ใช้เข้าถึงได้ง่าย รวมถึงการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวต้องทำได้ง่าย ครอบคลุมรอบด้าน และคำนึงผลประโยชน์ของผู้ใช้เป็นหลัก เช่น การตั้งค่าตั้งต้นให้ปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ให้มากที่สุด แล้วหากผู้ใช้ต้องการเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น ก็ให้เป็นทางเลือกของผู้ใช้เอง (ไม่ใช่ตั้งค่าตั้งต้นให้เปิดเผยข้อมูล แล้วค่อยให้ผู้ใช้เลือกปิดได้ในภายหลัง)
ผู้ให้บริการออนไลน์ต้องแจ้งให้ผู้ใช้ทราบทุกครั้งหากมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการใช้บริการ โดยเฉพาะนโยบายการเก็บข้อมูลผู้ใช้และการตั้งค่าความเป็นส่วนตัว
- มาตรฐานการรักษาความลับและบูรณภาพของระบบ
ระบบไอทีต้องมีมาตรฐานการรักษาความลับ (confidentiality) และบูรณภาพของระบบ (integrity หมายถึงการรักษาความปลอดภัยเพื่อป้องกันไม่ให้ซอฟต์แวร์อันตรายเข้ามาปรับเปลี่ยนข้อมูลหรือไฟล์ของเราได้) เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลอื่นเข้าสู่ระบบโดยปราศจากความยินยอม
- การคุ้มครองตัวตนออนไลน์
ประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะสร้างตัวตนในโลกออนไลน์และได้รับความเคารพในตัวตนนั้นๆ ซึ่งรวมถึงการเลือกไม่เปิดเผยตัวตนแท้จริง ทว่าสิทธิดังกล่าวจะต้องไม่ถูกใช้ในทางที่ผิดหรือเป็นภัยต่อผู้อื่น นอกจากนั้น ข้อมูลการพิสูจน์ตัวตน เช่น ลายเซ็นดิจิทัล รหัสผ่าน พินโค้ด จะต้องไม่ถูกนำไปใช้หรือเปลี่ยนแปลงโดยปราศจากความยินยอมของเจ้าของ
- สิทธิในการไม่เปิดเผยตัวและใช้การเข้ารหัส
พลเมืองทุกคนมีสิทธิในการสื่อสารแบบนิรนามในโลกออนไลน์ และมีสิทธิในการใช้เทคโนโลยีการเข้ารหัสเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัย และการสื่อสารแบบนิรนาม
- เสรีภาพจากการสอดแนม
พลเมืองทุกคนมีเสรีภาพที่จะสื่อสารโดยปราศจากการสอดแนมตามอำเภอใจในโลกออนไลน์ เช่น การติดตามข้อมูลพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของเรา
- ความเป็นส่วนตัวในที่ทำงาน
ประชาชนมีสิทธิในความเป็นส่วนตัวในที่ทำงาน เช่น การส่งอีเมลส่วนตัวในบริษัท ผู้จ้างมีหน้าที่แจ้งให้ทราบถึงการตรวจสอบและติดตามข้อมูลการสื่อสารในที่ทำงาน หากไม่มีการแจ้งล่วงหน้า ให้ถือว่าพนักงานมีความเป็นส่วนตัวในการใช้อินเทอร์เน็ตในที่ทำงาน
ความรับผิดชอบในโลกออนไลน์
“อำนาจที่ยิ่งใหญ่มาพร้อมกับความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่” ประโยคยอดฮิตจากภาพยนตร์สไปเดอร์แมนสามารถประยุกต์ใช้กับพลเมืองดิจิทัลได้เป็นอย่างดี เมื่ออินเทอร์เน็ตมอบอำนาจอันยิ่งใหญ่ให้กับเรา เราก็ต้องรู้จักใช้มันอย่างมีความรับผิดชอบเช่นกัน
ตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เทคโนโลยีใหม่ๆ กระตุ้นให้สังคมต้องมาถกเถียงถึงความรับผิดชอบ จริยธรรม และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีและผลกระทบของมัน ตัวอย่างเช่น สถาบันจริยธรรมคอมพิวเตอร์ได้บัญญัติจริยธรรมคอมพิวเตอร์ 10 ประการไว้ในปี 1992 เพื่อรับมือกับประเด็นจริยธรรมจากการใช้คอมพิวเตอร์ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในยุคนั้น ซึ่งหลายประเด็นยังคงทันสมัยมาจนถึงทุกวันนี้
สิทธิต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างสังคมออนไลน์ที่ดี สิ่งที่เราไม่ต้องการเห็นในโลกจริงก็มักเป็นสิ่งที่เราไม่ต้องการในโลกไซเบอร์ด้วยเช่นกัน เช่น การพูดจาด้วยคำพูดรุนแรง การละเมิดสิทธิในผลงานผู้อื่น การขโมยตัวตนของผู้อื่น เราในฐานะพลเมืองมีความรับผิดชอบต่อสังคมที่จะต้องหลีกเลี่ยงการกระทำดังกล่าว รวมถึงสนับสนุนให้ผู้อื่นมีหน้าที่ความรับผิดชอบเช่นเดียวกัน
ความรับผิดชอบในการสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างมีมารยาท
อินเทอร์เน็ตช่วยให้เราสามารถติดต่อสื่อสารและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นได้อย่างสะดวกง่ายดาย เช่น ตั้งกลุ่มไลน์สมาชิกคอนโดหรือหมู่บ้านไว้แลกเปลี่ยนข่าวสาร ใช้จีเมลในการส่งอีเมลระหว่างกัน หรือมีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องบ้านเมืองในเว็บบอร์ดพันทิป อย่างไรก็ดี การสื่อสารที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและบางครั้งก็โดยนิรนาม อาจทำให้เกิดการสื่อสารที่ไร้มารยาทได้ง่าย
พลเมืองดิจิทัลควรตระหนักถึงมารยาทในการใช้อินเทอร์เน็ต (netiquette) สื่อสารกับผู้อื่นอย่างสุภาพ คิดถึงผลกระทบที่จะเกิดกับผู้อื่น และเป็นแบบอย่างที่ดีในโลกออนไลน์ ดังนี้
- อย่ากระพือความขัดแย้ง หลีกเลี่ยงการใช้ภาษารุนแรงและก้าวร้าว
- หลีกเลี่ยงการประชดประชัน เราต้องเข้าใจว่าการสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตนั้นไม่เห็นภาษากายและสีหน้าซึ่งช่วยในการสื่อสาร ดังนั้นการแสดงความเห็นเชิงประชดประชันอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ง่าย
- อย่าโกหก ซื่อสัตย์ต่อผู้อื่นและไม่เสแสร้งปลอมตัวเป็นคนอื่น เว้นแต่กรณีที่จำเป็นต้องปกปิดอัตลักษณ์
- ใช้อินเทอร์เน็ตโดยคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อผู้อื่น เช่น ไม่แชร์ข้อมูลส่วนตัวของเพื่อนในหน้าเฟสบุ๊ค ไม่ส่งต่ออีเมลส่วนตัวให้คนอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต
- อย่าโพสต์หรือแชร์ข้อมูลส่วนบุคคลทั้งของตนเองและผู้อื่นที่อาจนำภัยอันตรายมาได้ โดยเฉพาะกับคนไม่รู้จักและเว็บไซต์ที่ดูน่าสงสัยและไม่รองรับการเข้ารหัส เช่น ไม่แชร์แผนการท่องเที่ยวที่อาจทำให้ผู้ไม่ประสงค์ดีรู้ว่าเราจะไม่อยู่บ้านเวลาไหน
- ใช้อินเทอร์เน็ตให้เหมาะสมกับสถานการณ์และบริบท เช่น ไม่ส่งข้อความหรือเล่นโทรศัพท์มือถือระหว่างที่สนทนากับผู้อื่นหรือขณะร่วมโต๊ะอาหาร หรือเรียนรู้กฎของชุมชนออนไลน์ที่เราสนใจก่อนเข้าร่วม
- อย่าโพสต์ความรู้สึกส่วนตัวเกี่ยวกับงานหรือความสัมพันธ์ หากต้องการสื่อสารในเรื่องที่มีอารมณ์ความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้องมากๆ พยายามสื่อสารกับคนที่เกี่ยวข้องโดยตรงด้วยช่องทางที่มีความเป็นส่วนตัว
- อย่าแชร์ข้อมูลหรือข่าวสารโดยไม่ได้ตรวจสอบให้ดีก่อน โดยเฉพาะในกรณีที่อาจทำให้บุคคลหรือองค์กรใดเสื่อมเสียชื่อเสียง
ความรับผิดชอบในการใช้และอ้างอิงผลงานของผู้อื่น
อินเทอร์เน็ตกลายเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญในการเรียนรู้ แต่การที่อินเทอร์เน็ตช่วยให้เราเข้าถึง แชร์ รวมถึงคัดลอกผลงานของผู้อื่นได้ง่าย ไม่ได้แปลว่าเรามีสิทธิใช้ผลงานของผู้อื่นโดยไม่ต้องขออนุญาต
ก่อนจะใช้ผลงานของผู้อื่น ถือเป็นความรับผิดชอบที่จะต้องตรวจสอบว่า ผลงานชิ้นนั้นยังติดลิขสิทธิ์หรือได้ตกเป็นของสาธารณะ (public domain) เนื่องจากความคุ้มครองลิขสิทธิ์ได้หมดลงแล้ว เป็นผลงานของรัฐบาลที่ใช้เงินสาธารณะสร้างขึ้นมา หรือผู้สร้างสรรค์เลือกที่จะมอบผลงานให้เป็นของสาธารณะ ในกรณีที่ติดลิขสิทธิ์ เราต้องตรวจสอบว่าการใช้งานนั้นถือเป็นการใช้อย่างเป็นธรรมหรือไม่ ถ้าไม่ ก็ถือเป็นหน้าที่ของเราในการขออนุญาต ตัวอย่างกรณีที่ถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์ เช่น การนำผลงานทั้งหมดของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ บทความ ภาพ วิดีโอ เพลง กราฟิก โพสต์ความเห็น หรือผลงานสร้างสรรค์ของผู้อื่น ไปเผยแพร่ในเว็บไซต์ อีเมล หรือโซเชียลมีเดีย โดยไม่ได้รับอนุญาต
นอกจากการละเมิดลิขสิทธิ์ซึ่งเป็นปัญหาด้านกฎหมาย การขโมยผลงานของผู้อื่น (plagiarism) ก็ถือเป็นปัญหาเชิงจริยธรรมในแวดวงวิชาการ นักเรียน/นักศึกษา/นักวิจัยต้องมีความรับผิดชอบในการอ้างอิงผลงานของผู้อื่น ไม่ว่าแหล่งที่มาจะมาจากในออนไลน์หรือออฟไลน์ก็ตาม เช่น ไม่นำคำพูด แนวคิด ข้อค้นพบในผลงานของผู้อื่นมาใช้โดยไม่อ้างอิงให้เหมาะสม
โครงการคอมมอนเซนส์เอดูเคชั่น สรุป 5 ขั้นตอนในการใช้และอ้างอิงผลงานสร้างสรรค์อย่างรับผิดชอบ คือ 1) ตรวจสอบว่าใครเป็นเจ้าของผลงาน 2) ขออนุญาตก่อนใช้ 3) ให้เครดิตกับเจ้าของผลงาน 4) ซื้อสิทธิการใช้ (ถ้าจำเป็น) และ 5) ใช้อย่างมีความรับผิดชอบ8
ความรับผิดชอบในการปฏิบัติตามกฎหมาย
พลเมืองดิจิทัลที่ดีควรศึกษาว่ามีกฎหมายและข้อบังคับอะไรบ้างที่กำกับการใช้อินเทอร์เน็ตของเรา เช่น กฎหมายลิขสิทธิ์ กฎหมายกำกับดูแลเนื้อหาออนไลน์ กฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ รวมถึงตระหนักถึงผลกระทบจากการละเมิดกฎหมายด้วย
ข้อควรระวังด้านกฎหมายมีดังนี้
- ไม่ขโมยอัตลักษณ์ออนไลน์
- ไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น
- ไม่ดาวน์โหลดเพลง ภาพยนตร์ หรือผลงานสร้างสรรค์ของผู้อื่นผ่านช่องทางที่ผิดกฎหมาย รวมถึงไม่เผยแพร่งานที่ติดลิขสิทธิ์ไปตามช่องทางที่ผิดกฎหมาย
- อย่าสร้างหรือเผยแพร่มัลแวร์ ซอฟต์แวร์ เว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่นที่ขโมยข้อมูลสำคัญของผู้อื่นหรือทำลายระบบ
- ไม่โพสต์หรือแชร์เนื้อหาที่สุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย เช่น สื่อลามกอนาจารเด็ก ประทุษวาจา ข้อความหมิ่นประมาท
- ไม่ละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น เช่น การดักจับอีเมลของผู้อื่น หรือแอบขโมยรหัสผ่านเพื่อเข้าไปดูบัญชีเฟสบุ๊คของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต
ความรับผิดชอบในการรักษาความปลอดภัยออนไลน์
อินเทอร์เน็ตเต็มไปด้วยความเสี่ยง เช่น อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ ภัยคุกคามไซเบอร์ การขโมยอัตลักษณ์ออนไลน์ พลเมืองดิจิทัลจำเป็นต้องเรียนรู้วิธีป้องกันตัวเองจากความเสี่ยงออนไลน์ อาทิเช่น
- ติดตั้งโปรแกรมป้องกันไวรัสและอัปเดตให้เป็นเวอร์ชั่นใหม่อย่างสม่ำเสมอ
- ตรวจสอบเวลาเปิดไฟล์แนบทางอีเมล และระมัดระวังก่อนจะกดคลิกลิงก์เชื่อมไปยังส่วนอื่นๆ
- เปิดใช้การพิสูจน์ตัวตนสองระดับ
- ติดตั้งใช้งานแอปพลิเคชั่นสำหรับติดตามและล็อกโทรศัพท์มือถือระยะไกลในกรณีที่อุปกรณ์สูญหาย
- สำรองข้อมูลไว้หลายแห่งเพื่อป้องกันข้อมูลสูญหาย
- การตั้งล็อกหน้าจอบนคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์เคลื่อนที่ต่างๆ ด้วยรหัสผ่าน พินโค้ด ลายนิ้วมือ ฯลฯ
- การเข้ารหัสป้องกันการเข้าถึงข้อมูลที่อยู่ในอุปกรณ์เชื่อมต่อภายนอก เช่น ยูเอสบีไดร์ฟ
ความรับผิดชอบต่อสุขภาพของตนเอง
วิถีชีวิตที่มีอินเทอร์เน็ตเข้ามาเกี่ยวข้องนั้นอาจบั่นทอนสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของเรา เราต้องตระหนักถึงผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจจากการใช้อินเทอร์เน็ตและเครื่องมือสื่อสารในยุคดิจิทัล และหาทางคุ้มครองตัวเองและผู้อื่นจากอันตรายเหล่านั้น เช่น โรคกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ ภาวะตาล้า การนั่งผิดท่า การเสพติดอินเทอร์เน็ต
ความรับผิดชอบในการใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
เราต้องตระหนักถึงความเสี่ยงจากการซื้อขายสินค้าและบริการออนไลน์ การทำธุรกรรมออนไลน์เป็นเรื่องง่ายและสะดวกจนบ่อยครั้งเราไม่ได้ใคร่ครวญให้ดีก่อนทำ ดังนั้นก่อนตัดสินใจทำธุรกรรมออนไลน์ต้องหาข้อมูลให้ดีและมั่นใจว่าปลอดภัย รวมถึงมั่นใจว่าจะไม่ก่อให้เกิดหนี้ก้อนโตในอนาคต
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น